ประวัติ
คณะอุตสาหกรรมเกษตร
จากนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อการส่งออกตามแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (ปี 2515-2519) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดตั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตรขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตามประกาศการแบ่งส่วนราชการใน ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2523 ด้วยความเป็นผู้นำในการเปิดสอนหลักสูตรในประเทศไทยที่ก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมหลายสาขาวิชา
ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร รวมทั้งหลักสูตรวิศวกรรมอาหาร ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากผลผลิตทางการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นการรองรับการขยายตัวทางอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปัจจุบันผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ให้เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงการควบคุมกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ทำการเปิดสอนหลักสูตร พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร เป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในงานอาชีพอุตสาหกรรมเกษตรควบคู่ไปกับการตลาด ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์มีวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตให้เป็นนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มีความรู้ความสามารถดีเยี่ยมในการที่จะคิดค้นพัฒนา และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ทาง อุตสาหกรรมเกษตรทั้งที่เป็นอาหาร กึ่งอาหาร และมิใช่อาหาร ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ด้วยการตระหนักในความสำคัญของการบรรจุที่มีต่อคุณภาพและการตลาดของผลิตภัณฑ์เกือบทุกประเภท กอปรกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจของประเทศและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการบรรจุ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นให้เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการนำความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และ การบริหาร มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อให้บัณฑิตเป็นผู้มีความรู้ และความสามารถในกระบวนการผลิตวัสดุบรรจุ การผลิตภาชนะบรรจุ ระบบการบรรจุ เครื่องจักร เครื่องมือทางการบรรจุ การออกแบบภาชนะบรรจุ ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และการตลาด
เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ คณะอุตสาหกรรมเกษตรเป็นผู้นำในการเปิดหลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเสริมความเข้มแข็งในกระบวนการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในการผลิตสารชีวภาพต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีการตัดต่อยีน การค้นหาและสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากสมุนไพรเป็นการผสมผสานความรู้ด้านชีวเคมี จุลชีววิทยา และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน
เมื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ เป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้จำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ แต่ยังคงขาดแคลนบุคลากรในระดับนักวิชาการและผู้ควบคุมการผลิต ที่มีความรู้ความสามารถในการที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการในระบบอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตรจึงได้ก่อตั้งหลักสูตรวิทยาการสิ่งทอจึงมุ่งเส้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรอบรู้ในทุกขั้นตอนของการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดหลักสูตรให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ กระบวนการผลิตสิ่งทอ และเทคโนโลยีการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนการออกแบบการตลาด และการจัดการสินค้าสิ่งทอ เพื่อให้สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศ
และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรรมเกษตรจำเป็นต้องสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ในด้านการวิจัย และการปฏิบัติเชิงบริหาร เพื่อเป็นการเสริมความรู้ความชำนาญทางการบริหารและการจัดการเทคโนโลยีเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางอุตสาหกรรมเกษตร ที่มีวิสัยทัศน์ทางด้านการบริหารและการจัดการเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตรจึงได้มีโครงการจัดตั้งภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตรขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อเสริมให้บุคลากรทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรสามารถก้าวหน้า ในตำแหน่งบริหารงานในธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและเป็นการพัฒนาวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ของธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร